ที่มาและความสำคัญ
ประโยชน์ของทรัพยากรธรรมชาติ
ผลกระทบ
การแก้ปัญหา
BCG Model
โครงการ Smart Library
ประโยชน์ของ
ทรัพยากรธรรมชาติ
ทรัพยากรธรรมชาติเป็นสิ่งสำคัญที่อยู่คู่กับโลกของเรามาอย่างเนิ่นนาน เป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการดำรงชีวิตและตอบสนองความต้องการของมนุษย์ในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม อุตสาหกรรม เกษตรกรรม คมนาคม และบริการต่าง ๆ ของทุกประเทศทั่วโลก
ผลกระทบ
จากการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการดำเนิน กิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์
ในสถานการณ์ปัจจุบัน
มนุษย์มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ อาทิเช่น ป่าไม้ น้ำ ดิน อากาศ แร่ธาตุ พลังงาน ทรัพยากรชายฝั่งทะเล และทรัพยากรในสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น
ส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติ
ลดลงไปอย่างมาก ทำให้ทรัพยากรบางอย่างไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้งาน ยกตัวอย่างเช่น เชื้อเพลิงฟอสซิล ได้แก่ น้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น
ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไป และไม่สามารถสร้างขึ้นมาทดแทนใหม่ได้ในระยะเวลาอันสั้น อีกทั้งปริมาณสำรองของเชื้อเพลิงเหล่านี้ที่มีอยู่ในโลกยังลดลงไปเป็นจำนวนมาก คาดว่าจะไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชากรโลกที่เพิ่มมากขึ้น การขยายตัวทางเศรษฐกิจ และความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีในอนาคต
ยิ่งไปกว่านั้น การดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ในหลาย ๆ กิจกรรมยังใช้กระบวนการหรือกรรมวิธีต่าง ๆ ที่ส่งผลเสียและทำลายทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งสภาพแวดล้อม อาทิเช่น การเผาป่า การบุกรุกทำลายป่า การทิ้งสารเคมีหรือของเสียลงในแหล่งน้ำ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมากออกสู่ชั้นบรรยากาศ ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมตามมา เช่น มลพิษฝุ่น PM2.5 ขยะพลาสติก ขยะทะเล แหล่งน้ำเน่าเสีย น้ำมันรั่วไหล ไฟป่า ภัยแล้ง แผ่นดินไหว สึนามิ ภาวะโลกร้อน การสูญเสียความหลากหลาย ทางชีวภาพ ภาวะขาด แคลนอาหาร เป็นต้น
การแก้ปัญหา
ด้านทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ
จากผลกระทบดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของโลกทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้ทุกประเทศตระหนักและให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
เกิดการรณรงค์ กำหนดนโยบาย กฎหมายต่าง ๆ
เพื่อลดผลกระทบลดความเสียหาย รวมถึงฟื้นฟูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืนในระยะยาว เช่น มาตรการประหยัดพลังงาน การเปลี่ยนมาใช้พลังงานสีเขียวหรือพลังงานสะอาด การจัดการขยะด้วยหลัก 8R (Rethink, Reduce, Reuse, Recycle, Repair, Regift, Recover และ Refuse) การปลูกป่าทดแทน การลดการใช้พลาสติก การคัดแยกขยะก่อนทิ้ง การนำขยะจากอาหารหรืออุตสาหกรรมไปเป็นวัตถุดิบในการสร้างก๊าซชีวภาพ น้ำมันไบโอดีเซล เป็นต้น
องค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN)
ยังได้กำหนดแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ซี่งเป็นแนวทางการพัฒนาที่ตอบสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่ลิดรอนความสามารถในการตอบสนองความต้องการของคนรุ่นหลัง ซึ่งได้รับการรับรองจาก 193 ประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2558 ครอบคลุมช่วงระยะเวลาที่ต้องบรรลุภายใน 15 ปี เป็นทิศทางการพัฒนาที่ทุกประเทศที่ต้องดำเนินการร่วมกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 ไปจนถึงปี พ.ศ. 2573 โดยกำหนดให้มีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ทั้งหมด 17 เป้าหมาย เป็นแนวทางให้แต่ละประเทศดำเนินการร่วมกัน
BCG Model
ประเทศไทยได้มีการนำ SDGs มาปรับใช้ให้เหมะสมกับบริบทของประเทศ ตัวอย่างเช่น ในภาคอุตสาหกรรมที่กระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมได้ก่อให้เกิดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงสุขภาพของมนุษย์และระบบนิเวศเป็นจำนวนมาก
กำหนดแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรม ในประเทศไทย
จึงมีการนำแนวคิดการพัฒนาอุตสาหกรรมยั่งยืนมาเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศไทยเพื่อให้กระบวนการผลิตสินค้าต่าง ๆ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมผ่านโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) เพื่อให้เกิดการปรับปรุง แก้ไข เปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ยังได้เสนอ
โมเดลเศรษฐกิจ BCG
ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนา 3 เศรษฐกิจไปพร้อมกัน ได้แก่
เศรษฐกิจชีวภาพ
(Bio Economy)
เศรษฐกิจหมุนเวียน
(Circular Economy)
เศรษฐกิจสีเขียว
(Green Economy)
โดยโมเดลนี้จะเข้ามาเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจเดิมที่เป็นเศรษฐกิจเส้นตรงให้เป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน มุ่งเน้นการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติใหม่ หมุนเวียนการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และลดการปลดปล่อยของเสียหรือขยะให้น้อยที่สุด
แผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อน การพัฒนาประเทศไทย
นอกจากนี้ ยังมีแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564– 2570 ที่จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการเปลี่ยนข้อได้เปรียบของไทยที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมให้เป็นความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรม เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตและแข่งขันในระดับโลกได้ และยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เกิดการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืนสอดคล้องกับเป้าหมาย SDGs ขององค์การสหประชาชาติ
เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy)
เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
ระบบเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)
โครงการพัฒนา
ห้องสมุดอัจฉริยะ (Smart library)
เพื่อการจัดการด้านความปลอดภัย การอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์พลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และพร้อมสนับสนุนการนำโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาใช้ในองค์กรเพื่อขับเคลื่อนสู่การพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน
กองหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยี กรมวิทยาศาสตร์บริการ
จึงได้จัดทำนิทรรศการเสมือนจริงในหัวข้อ พลังงานสีเขียวเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ เผยแพร่ และประชาสัมพันธ์ข้อมูลต่าง ๆ ให้ประชาชนทั่วไปได้ตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมแนวทางการใช้พลังงานสีเขียว และความรู้เกี่ยวกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อให้ผู้เข้าชมสามารถนำข้อมูลและความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้งาน และจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืนได้ต่อไป